วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

"อุทยานสามก๊ก" ในประเทศไทย

เรียบเรียงโดย Thepoetry4u.


อุทยานสามก๊ก จังหวัดชลบุรี

อุทยานสามก๊ก ตั้งอยู่ที่ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในอาณาเขตพื้นที่กว่า 36 ไร่ มีการจัดวางรูปแบบตามหลักฮวงจุ้ยของจีน พื้นที่ทั้งหมดของอุทยานสามก๊กประกอบไปด้วยต้นไม้และสถาปัตยกรรมแบบจีนเป็นจำนวนมาก มีหยินและหยางตามแบบฉบับปรัชญาแห่งความสมดุลของจีน สร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ออกแบบโดย อาจารย์ธีรวัลย์ พัธโนทัย และอาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ สถาปนิกแห่งกรมศิลปากร เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและจีนได้อย่างลงตัว
พื้นที่ตั้งของอุทยานสามก๊กเป็นพื้นที่ลาดต่ำไปทางทิศใต้ มีภูเขาขนาดย่อมทอดตัวอยู่ทางทิศเหนือ มีลักษณะการยกระดับขึ้นไปเป็นระยะ ๆ จนเชื่อมต่อกับบันไดทางขึ้น บริเวณโดยรอบวางผังแบบรูปทรงเรขาคณิต ตามหลักการวางผังบริเวณที่เป็นมงคลมาแต่โบราณทั้งของไทยและจีน มีซุ้มประตูทางเข้าวางเป็นตัวกั้นแบ่งพื้นที่ส่วนอนุสรณ์สถานที่อยู่ทางทิศเหนือกับส่วนบริการทางทิศใต้ วางแนวแกนตะวันออก-ตะวันตกเพื่อเป็นที่ตั้งของอาคารศาลเจ้าแม่กวนอิมกับอาคารอเนกประสงค์ โดยมีระเบียงโค้งแบบจันทร์เสี้ยวเป็นตัวเชื่อมต่อและโอบล้อมอาคารทั้ง 3 หลังเป็นหนึ่งเดียวกัน มีสิ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมจีนที่เรียกว่าเก๋ง จำนวน 3 อาคาร
อาคารกลางหรืออาคารประธานมีความสูงที่สุด มีทั้งหมด 4 ชั้น มุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งสื่อถึงท้องทะเลและท้องฟ้า มีการประดับรูปประติมากรรมเพื่อความเป็นมงคลตามหลักความเชื่อดั้งเดิมของจีนเช่น คนชราขี่สัตว์รูปร่างคล้ายไก่หรือเซียนเหญิน, มังกรสี่ขาท่านั่ง รูปร่างคล้ายสัตว์จตุบาท เรียกอีกอย่างว่า "จตุบาทพันธุ์มังกร" เป็น 1 ในบุตรชายทั้ง 9 ของพญามังกร , หงส์ สัตว์จตุบาทรูปลักษณะหงส์ ซึ่งแต่เดิมนั้นหงส์จัดเป็นส่วนประดับหลักของอุทยานสามก๊ก แต่เนื่องจากจักรพรรดิเทียบเท่าได้กับมังกร หงส์ซึ่งหมายถึงฝ่ายหญิงหรือฮองเฮา
ชั้นที่ 2 เป็นภาพวาดประวัติศาสตร์สีน้ำมัน เป็นการบันทึกเรื่องราวและชีวประวัติทั้งหมดของจูกัดเหลียง มีทั้งหมด 8 ตอนด้วยกัน และชั้นที่ 3 เป็นภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องราวของจูกัดเหลียงในช่วงที่ 2 เป็นภาพเขียนฝาผนังยาว 100 เมตร ทั้งหมด 8 ตอน โดยฝีมือของจิตรกรชาวจีน ใช้ระยะเวลาในการเขียนภาพฝาผนังเป็นเวลานานถึง 5 ปี ชั้นที่ 4 เป็นหอแก้วสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ค้นพบที่ถ้ำแห่งหนึ่งในลำพูน โดย ดร.วรภัทร ภู่เจริญ เป็นผู้มอบให้แก่อุทยานสามก๊กเพื่อเป็นที่สักการบูชา หันหน้าออกทางทะเลตามหลักฮวงจุ้ย พร้อมรูปปั้นพระสังกัจจายน์และพระถังซำจั๋ง
ภายในอุทยานสามก๊ก มีระเบียงจิตรกรรมบนกระเบื้องกังไสจีน เป็นการจัดแสดงฉากจากพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก จำนวน 56 ตอน ความยาว 240 เมตร เป็นการคัดย่อวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กเฉพาะในส่วนตอนที่สำคัญตั้งแต่ตอนต้นเรื่องคือเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย สามวีรบุรุษร่วมสาบานในสวนท้อ กระถึงตอนสุดท้ายที่สุมาเอี๋ยนได้รวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ถือได้ว่านอกจากอุทยานสามก๊กจะได้ย่อตำนานพงศาวดารจีนที่มีความยาวเป็นอย่างมากไว้ภายในอุทยานแล้ว ยังได้นำเสนอเรื่องราวของสามก๊กผ่านระเบียงจิตรกรรม นอกจากนั้นยังมีตัวละครเอกในรูปแบบของรูปปั้นกังไสกระเบื้องประดับภายในอุทยานอีกด้วย ซึ่งอุทยานสามก๊กจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้นำเอาศิลปะความเป็นจีน นำเสนอผ่านทางรูปแบบของสถาปัตยกรรมจีนร่วมสมัยอีกด้วย

ประมวลภาพ







1 ความคิดเห็น:

  1. เคยไปเที่ยวแล้วครั้งหนึ่ง.. แต่ไม่ค่อยได้เก็บภาพ
    มัวตะลึงกับความยิ่งใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่าของอย่างนี้ประเทศไทยก็รังสรรค์ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เจอแต่คนเห็นแก่ตัว (5555555555)

    ตอบลบ